ศึกษาสภาพปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการทำมาตรฐานฟาร์มไม่สำเร็จของเกษตรกรผู้เลี้ยง
โคนม ในเขต สหกรณ์โนนสุวรรณ อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์
โดย
นายชัยยุทธ โคตรมา
นายพงศกร เรียมทอง
อาจารย์ที่ปรึกษา นายธนพนธ์ ธิสงค์
แผนกวิชาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสภาพปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการทำมาตรฐานฟาร์มไม่สำเร็จของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในเขต สหกรณ์โนนสุวรรณ อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ สหกรณ์โคกก่อ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคามและบริษัทส่งเสริมผลิตภัณฑ์นม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ,อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี , อำมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี รวมจำนวนฟาร์มทั้งหมด 84 ฟาร์ม โดยมีหัวข้อสำรวจแบ่งเป็น 3 ตอน ตอนที่ 1 สำรวจข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร ตอนที่ 2 สำรวจปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่ทำมาตรฐานฟาร์มไม่สำเร็จ โดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อ 2.1.ปัญหาด้านเกษตรกร 2.2.ปัญหาด้านการจัดการฟาร์ม 2.3.ปัญหาด้านเงินทุน 2.4.ปัญหาด้านภาครัฐ และ ตอนที่ 3 เป็นข้อเสนอแนะของเกษตรเกี่ยวกับการทำมาตรฐานฟาร์ม โดยสำรวจฟาร์มที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานฟาร์ม ว่าเกษตรกรมีผลกระทบเรื่องใดบ้างจึงทำไม่สำเร็จ โดยใช้แบบสัมภาษณ์คำถามแบบปลายปิด (Closed-ended questions) และคำถามแบบปลายเปิด (Open-ended question)
ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่ มีอายุเฉลี่ย 45 ปี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษา มีประสบการณ์เลี้ยงโคนมเฉลี่ยมากกว่า 10 ปี ใช้พื้นที่การเลี้ยงโคเฉลี่ยต่ำกว่า 5 ไร่ มีจำนวนโคในฟาร์ม 30 ตัว มีโครีดนม 15 ตัว ปริมาณน้ำนมที่รีดได้โดยเฉลี่ย 200 กิโกกรัมต่อวัน เกษตรกรมีรายได้สุทธิโดยเฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำมาตรฐานฟาร์มไม่สำเร็จคือเรื่อง 1.ปัญหาด้านเงินทุน คิดเป็นร้อยละ 80.95% 2.ปัญหาด้านการจัดการฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 80% 3.ปัญหาด้านเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 66.67% 4.ปัญหาด้านภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.53% ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุนที่จะปรับปรุงฟาร์ม เนื่องจากเกษตรกรยังเป็นหนี้ คิดเป็นร้อยละ 88.09% และมีรายได้จากการขายน้ำนมดิบไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายภายในฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 66.66% ซึ่งจะส่งผลต่อด้านองค์ประกอบของฟาร์ม โดยการแบ่งสัดส่วนภายในฟาร์มโดยส่วนใหญ่ยังขาดในด้านการแยกคอกพักโคให้เป็นสัดส่วน คิดเป็นร้อยละ 80% ซึ่งในส่วนของเกษตรกร เกษตรกรส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 66.67 % คิดว่าการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มไม่มีความยุ่งยากและคิดว่าการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ ยังมีปัญหาในด้าน การขาดแคลนเงินทุนในการปรับปรุงฟาร์ม ให้ผ่านมาตรฐานฟาร์ม ส่วนปัญหาด้านภาครัฐพบว่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐได้เข้ามาให้คำแนะนำจัดอบรมเกี่ยวกับการทำมาตรฐานฟาร์มให้กับเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 90.47%
การทำมาตรฐานฟาร์มนั้น ต้องมีความร่วมมือกันในหลายฝ่าย ทั้งในเรื่องของนโยบายของภาครัฐและกฎระเบียบของศูนย์รับนมดิบและที่ขาดไม่ได้จะต้องมีเงินทุน ในการปรับปรุงฟาร์มดังนั้น ทางศูนย์รับนมดิบหรือสหกรณ์รับน้ำนมดิบและภาครัฐควรต้องมีความร่วมมือ ส่งเสริมและติดตามการทำมาตรฐานฟาร์มในฟาร์มเกษตรกรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และควรมีการจัดหาแนวทางด้านแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกรที่ยังขาดเงินทุนในการปรับปรุงฟาร์ม ทางภาครัฐควรมีการใช้มาตรฐาน กฎระเบียบ เกณฑ์การรับรองมาตรฐานฟาร์มให้เป็นรูปแบบหรือแนวทางเดียวกันในทุกๆ เขตพื้นที่
|