ประวัติของสถานศึกษา
เจ้าคุณเทศาภิบาลได้ปรารภกับรองอำมาตย์โทพระศรีวิชัยบริบาล(ข้าหลวงประจำจังหวัดศรีสะเกษ) ว่าในจังหวัดศรีสะเกษ ควรจะมีแหล่งศึกษาทางด้านการเกษตร เพื่อที่จะได้สั่งสอนอบรมบุตรหลานของเกษตรกรให้นำความรู้ใหม่ๆ ทางการเกษตรไปถ่ายทอดต่อบิดามารดา หรือกับบรรดาเครือญาติที่มีอาชีพทางการเกษตรทั้งหลายอันจะเป็นการพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่ง รองอำมาตย์โทพระศรีวิชัยบริบาล จึงได้ประชุมนายอำเภอต่างๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ให้พิจารณาจัดตั้ง “โรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรม”ขึ้น ต่อมาพระศรีพิชัยบริบาล (ข้าหลวงประจำจังหวัด) หลวงศักดิ์รัตนเขต (นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ) และขุนอักษรๆ (ธรรมการจังหวัด) พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนหลายคนได้ออกตรวจเลือกสถานที่ที่จะจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวข้นและได้เสนอสถานที่ที่จะตั้งไปยังสมุหเทศาภิบาล
ต่อมา สมุหเทศาภิบาลได้โปรดให้พระยาสิมาจารย์ธรรมการมณฑลและนายอ่ำ อุ่นไทยมาพิจารณาบริเวณที่ข้าหลวงจังหวัด ข้าราชการจังหวัด และประชาชนเสนอไปเมื่อกลางปี 2473และได้กลับไปเสนอบริเวณที่จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้น โดยเห็นว่าบริเวณ “ห้วยปูน” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมือง ห่างจากตัวเมืองศรีสะเกษ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ2,000ไร่ มีลำห้วยปูน ลำห้วยสำราญไหลผ่าน บางส่วนของพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และทำเลเลี้ยงสัตว์ เป็นที่ราบลุ่มและที่ราบสูงเหมาะแก่การเกษตรและไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก เป็นสถานที่เหมาะสมในการจัดตั้งโรงเรียน จึงให้ตั้งชื่อโรงเรียนชื่อ “โรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรม” ซึ่งเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2474 เปิดสอนตามหลักสูตรชั้นประถมปีที่ 4 โดยมีนายทิม หาญกล้า เป็นครูใหญ่ รับเฉพาะนักเรียนชายประจำ โดยทางจังหวัดคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนและให้ทุนการศึกษาทุกคน
การเปลี่ยนแปลงระดับการศึกษา
พ.ศ. 2474-2482 โรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรมห้วยปูน เปิดสอนตามหลักสูตรชั้นประถมปีที่ 4 พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนกสิกรรมศรีสะเกษ สังกัดกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ รับนักเรียนจากผู้สำรวจการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 เข้าเรียนหลักสูตร 2 ปี เมื่อจบการศึกษาแล้วได้รับประกาศนียบัตร ประโยคมัธยมอาชีวศึกษาตอนต้น แผนกเกษตรกรรม
พ.ศ. 2494 เปิดสอนหลักสูตร มัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกเกษตรกรรม รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น หรือผู้สำเร็จมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าเรียนต่อเป็นเวลา 3 ปี เมื่อสำเร็จแล้วจะได้รับ ประกาศนียบัตรประโยคมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลาย แผนกเกษตรกรรม
พ.ศ. 2507 เปิดสอนหลักสูตร มัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ แผนกเกษตรกรรม เทียบเท่าประโยคมัธยมศึกษาชั้นสูง รับผู้สำเร็จมัธยมศึกษาตอนต้น (ม. 6 เดิม) หรือผู้สำเร็จมัธยมศึกษาตอนต้นแผนกเกษตรกรรม เข้าศึกษาเป็นเวลา 3 ปี (ม.ศ. 4,5,6) สำเร็จแล้วได้รับประกาศนียบัตร ประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ แผนกเกษตรกรรม
ในปีการศึกษา 2513 เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรการศึกษาเกษตร (ปกศ.เกษตร)ขึ้นอีกระดับหนึ่งรับเฉพาะนักเรียนชายอยู่ประจำตามคำเร่งรัดครูฉุกเฉินของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย รับผู้จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ. 3) หลักสูตร 2 ปี
ปีการศึกษา 2518-2523 มีการเปิดสอน ดังนี้
1. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หมวดวิชาประเภทวิชาเกษตรกรรม หลักสูตร ม.ศ. 3 เข้าศึกษาเป็นเวลา 2 ปี
2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2520 หมวดวิชาประเภทวิชาเกษตรกรรม(ปวช. 2520) รับผู้จบระดับประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย หมวดวิชาชีพประเภทวิชาเกษตรกรรมและ ผู้จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโปรแกรมเกษตร(ม.ศ. 5 โปรแกรมเกษตร) เข้าศึกษาเป็นเวลา 1 ปี
3. หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง แผนกเกษตรกรรม รับผู้จบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพประเภทวิชาเกษตรกรรม ศึกษาต่อเป็นเวลา 2 ปี
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้รับการยกฐานะจาก โรงเรียนเกษตรกรรมศรีสะเกษเป็น วิทยาลัยเกษตรกรรมศรีสะเกษ สังกัดกองวิทยาลัยเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ปีการศึกษา 2523-2526 เปิดสอน 4 หลักสูตร คือ
1. หลักสูตร ปวช. 2524 รับผู้ที่จบ ม. 3 หรือเทียบเท่าเข้าศึกษาต่อเป็นเวลา 3 ปี
2. หลักสูตร ปวช. 2525 รับผู้ที่จบ ปวช. หรือ ม.ศ. 5 ประเภทวิชาชีพเกษตรกรรมเข้าศึกษาต่อเป็นเวลา 2 ปี
3. หลักสูตร ปวช. 2520 รับผู้ที่จบ ม.ศ. 5 เข้าศึกษาต่อเป็นเวลา 1 ปี
4. หลักสูตร ปวช. 2524 (พิเศษ) รับผู้ที่จบ ม.ศ.5 เข้าศึกษาต่อเป็นเวลา 1 ปี
ปีการศึกษา 2527 เปิดสอน 5 หลักสูตร คือ
1. หลักสูตร ปวช. 2524
2. หลักสูตร ปวส. 2525
3. หลักสูตร ปวส. 2527
4. หลักสูตร โครงการอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในชนบท (อศ.กช.)
5. หลักสูตร ปวท. 2527 สาขาวิชาพืชไร่-นา สาขาวิชาโคเนื้อและกระบือ สาขาวิชาสวนประดับ สาขาวิชาสัตว์ปีก และสาขาวิชาสัตว์เล็ก
ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 เป็นต้นมา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เปิดสอน หลักสูตรระดับ ปวส. สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ และสาขาวิชาอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นโดยรับนักเรียนที่จบชั้น ม. 6 จากโรงเรียนมัธยมสามัญ เรียนต่อหลักสูตร 2 ปี นอกจากนั้นยังเปิดสอนในหลักสูตร ปวช. ช่างยนต์ ตามโครงการวิทยาลัยชุมชน
ตั้งแต่ปีการศึกษา 2537 ได้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในวิทยาลัยเกษตรกรรมศรีสะเกษ ชิ่อ วิทยาลัยชุมชนศรีนครลำดวน
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ สังกัดกองวิทยาลัยเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ ได้ปฏิรูประบบบริหารราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (แก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2545) จึงได้เปลี่ยนสังกัดจากกรมอาชีวศึกษาเป็นสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นมา และตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน มี นายอรัญ สิงห์คำ เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาคนปัจจุบัน