ความดันในลูกตาส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาตรของน้ำในช่องหน้าม่านตา (aqueous humor) ซึ่งสร้างจากตัวซีเลียรี่ (ciliary body) แล้วถูกส่งไปจากช่องหลังม่านตา (posterior chamber) ผ่านรูม่านตา (pupil) ไปยังช่องหน้าม่านตา (anterior chamber) ก่อนระบายออกทางมุมระหว่างม่านตากับกระจกตา ที่เรียกว่า iridocorneal angle หรือ drainage angle
ซึ่งโดยหลักแล้ว การหมุนเวียนของน้ำในช่องหน้าม่านตานี้ต้องสมดุลกัน คือ สร้างมาเท่าไหร่ก็ควรระบายออกไปเท่านั้น หากขบวนการสร้าง การไหลเวียน และการถ่ายเทออกน้ำเลี้ยงลูกตาผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจทำให้ความดันในลูกตาไม่คงที่ และหากเพิ่มสูงขึ้นถึง 30-35 มิลลิเมตรปรอท ก็จะทำให้เกิด โรคต้อหิน (Glaucoma) ได้ครับ
ประเภทของโรคต้อหินในน้องหมา
โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้นจากปกติ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับลูกตา ซึ่งสุนัขทั่วไปจะมีความดันในลูกตาอยู่ระหว่าง 16-30 มิลลิเมตรปรอท หากเพิ่มสูงขึ้น เวลาเราเอานิ้วคลำหรือแตะ ก็จะรู้สึกได้ว่าลูกตาแข็งตึงขึ้นราวกับก้อนหิน จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคต้อหิน ซึ่งเราสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ดังนี้ครับ
1 โรคต้อหินแบบปฐมภูมิ (Primary glaucoma) เป็นโรคต้นหินที่เกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกิดจากการเป็นโรคอย่างอื่นมาก่อน เช่น โรคต้อหินชนิดมุมเปิด ซึ่งเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างการสร้างและการระบายออกของน้ำในลูกตา แต่มุม iridocorneal angle ยังคงเปิดอยู่ปกติ เปรียบได้กับรูระบายน้ำที่มีตะไคร่น้ำ คอยต้านการระบายของน้ำ หรือ โรคต้อหินชนิดมุมปิด ซึ่งเป็นความผิดปกติในส่วนของโครงสร้าง ทำให้มุม iridocorneal angle แคบลงหรือปิดไป เปรียบได้กับรูระบายน้ำที่คดงอผิดรูปทำให้การระบายน้ำแย่ลง
ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคต้อหินแบบปฐมภูมินี้ บางรายก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมด้วย จากการศึกษาในสุนัขพันธุ์ beagle ที่เป็นโรคต้อหินชนิดมุมเปิด พบว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อย (autosomal recessive) และการศึกษาในน้องหมาพันธุ์ Welsh springer spaniel ที่เป็นโรคต้อหินชนิดมุมปิด พบว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะเด่น (autosomal dominant) ครับ
2 โรคต้อหินแบบทุติยภูมิ (Secondary glaucoma) เป็นโรคต้อหินที่เกิดจากการเป็นโรคอย่างอื่นมาก่อน แล้วทำให้เกิดเป็นโรคต้อหินตามมา เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเลนส์ตาเคลื่อน โรคยูเวียอักเสบ (uveitis) โรคเนื้องอกในตา จนไปรบกวนทางถ่ายเทน้ำในช่องหน้าม่านตาออก หรือเกิดจากการที่มีเลือดออกภายในลูกตา (intraocular haemorrhage) แล้วมีลิ่มเลือดไปอุดตันการไหลเวียนของน้ำในช่องหน้าม่านตา หรือเป็นโรค Ocular melanosis แล้วเกิดเม็ดสีสะสมที่ iridocorneal angle และตาขาว ทำให้อุดตันการระบายออกของน้ำในช่องหน้าม่านตา ที่เรียกกันว่า Pigmentary glaucoma ครับ
จะรักษาโรคต้อหินให้น้องหมาได้อย่างไร
ในการรักษาโรคต้อหินให้กับน้องหมา มีจุดประสงค์เพื่อให้ความดันภายในลูกตาลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตา และเส้นประสาทตา (optic nerve) ถูกทำลาย เพราะจะทำให้น้องหมาตาบอดได้ ในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน คุณหมออาจให้การรักษาทางยาก่อน แต่หากอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองภายใน 24-48 ชั่วโมง อาจใช้วิธีการผ่าตัดรักษาต่อไป
ซึ่งรูปแบบวิธีการผ่าตัดเพื่อลดความดันในลูกตานั้นก็มีหลายแบบ ขึ้นกับลักษณะของโรคต้อหินที่น้องหมาเป็น เช่น วิธีลดการสร้างน้ำในช่องหน้าม่านตา โดยการทำลาย ciliary body บางส่วน หรือวิธีเพิ่มช่องทางการขับน้ำในช่องหน้าม่านตาให้มากขึ้น หรือใส่วัสดุส่วนที่เป็นท่อไว้ในช่องหน้าม่านตาเพื่อระบายน้ำออก ฯลฯ นอกจากนี้อาจจะต้องผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของลูกตาอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้อหินด้วย เช่น ในรายที่เป็นโรคเลนส์ตาเคลื่อน อาจจะต้องผ่าตัดเพื่อนำเลนส์ตาออกจากตา
แต่ถ้าโชคร้ายน้องหมาไปตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ เลย โดยเฉพาะในรายที่ยังมีความดันลูกตายังสูงอยู่ น้องหมาปวดตารุนแรง และมองไม่เห็นแล้ว หรือเป็นโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนด้วย เช่น เนื้องอกในลูกตา คุณหมออาจพิจารณาผ่าตัดเอาลูกตานั้นออกเลยครับ
สำหรับรายที่เป็นแบบเรื้อรังนั้น ส่วนใหญ่จะใช้การรักษาทางยา เพื่อควบคุมระดับความดันในลูกตาให้ปกติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งมีทั้งยาหยอดตาและยากิน โดยเจ้าของจะต้องพาน้องหมากลับมาพบคุณหมอ เพื่อตรวจวัดความดันลูกตาเป็นระยะ ๆ แต่หากไม่ตอบสนอง ก็อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัดรักษาเป็นราย ๆ ไปครับ
โรคต้อหินในน้องหมา เป็นโรคตาที่พบได้แทบจะทุกช่วงวัยเลยก็ว่าได้ครับ ซึ่งหากตรวจพบแล้วจะต้องรีบทำการรักษา แต่น่าเสียดายที่บางครั้ง เจ้าของก็ไม่ทันได้สังเกตอาการ กว่าจะพามาพบคุณหมอ บางทีก็สายไปเสียแล้ว ดังนั้นการหมั่นสังเกตอาการน้องหมาจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ หากพบอาการตาแดง ตาขุ่น รูม่านตาขยาย เจ็บปวดลูกตา ตาโปนขยาย หัวตก เบื่ออาหาร ซึมเศร้า ให้รีบพามาพบคุณหมอโดยทันที เพราะหากเป็นโรคต้อหินแล้ว ปล่อยทิ้งไว้เพียงแค่ 1-3 วัน ก็อาจทำให้น้องหมาตาบอดได้ครับ