เทศกาลและงานประเพณี
เทศกาลดอกลำดวนบาน และ ประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ
ในช่วงเดือนมีนาคมของแต่ละปี ดอกลำดวนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและเป็นต้นไม้/ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ มีขึ้นอยู่ตามธรรมชาติโดยทั่วไปโดยเฉพาะในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ อันเป็นสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีต้นลำดวนมากกว่า 50,000 ต้น ได้ออกดอกบานสะพรั่ง สิ่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วทั้งเมือง เปรียบเสมือนเมืองในเทพนิยาย
จังหวัดศรีสะเกษได้ร่วมกับมูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และส่วนราชการทุกหน่วยงานภายในจังหวัดศรีสะเกษ กำหนดจัดงาน เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ขึ้น ณ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ ในช่วงเดือนมีนาคม ของทุกปี
ความโดดเด่นของเทศกาลคือการแสดงประกอบแสง สี เสียง ชุด ศรีพฤทเธศวร ซึ่งเป็นการแสดงที่ย้อนยุคบอกเล่าตำนานของการสร้างเมืองศรีสะเกษ หรือ เมืองศรีนครลำดวน ในอดีต นับเป็นการแสดงละครกลางแจ้งที่สมบูรณ์แบบที่สุดรายการหนึ่งของประเทศไทย ประกอบด้วยนักแสดงจำนวนกว่า 1,000 คน และชุดการแสดงหลายรายการ โดยเฉพาะ ระบำศรีพฤทเธศวร ซึ่งเป็นการแสดงนาฏยศิลป์ที่ได้รับการออกแบบโดยกรมศิลปากร นอกจากนั้น ยังมีการแสดงดนตรี การฟ้อนรำ และศิลปะพื้นบ้านของชน 4 เผ่าไทยศรีสะเกษ ได้แก่ ลาว กูย เยอ และ เขมร ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ต้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และระหว่างชมการแสดงนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับรสชาติอาหารพื้นเมืองในบรรยากาศการรับประทานอาหารแบบ พาข้าวแลง หรือการรับประทานอาหารมื้อค่ำ ท่ามกลางกลิ่นหอมของดอกลำดวน
เทศกาลเงาะ ทุเรียน และของดีศรีสะเกษ
จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นแผ่นดินทองแห่งอีสานใต้ เนื่องจากมีสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะเขตที่ราบลุ่มน้ำมูลและเขตที่ราบลุ่มตอนกลางของจังหวัดในบริเวณที่เรียกว่า ดงภูดินแดง ที่มีลักษณะดินป็นดินร่วนปนทราย สีแดง(จึงเรียกว่า ดงดินแดง หรือ ภูดินแดง )มีความอุดมสมบูรณ์สูง สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญได้ ภูดินแดงเป็นภูเขาไฟเก่าที่มีพื้นที่กว้างขวาง อยู่ลึกเข้ามาจากแนวเทือกเขาพนมดงรัก ชายเขตแดนไทยกับกัมพูชา เป็นรอยต่อของอำเภอเบญจลักษณ์ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอศรีรัตนะ อำเภอขุนหาญและอำเภอกันทรลักษณ์[5] เขตนี้จึงเป็นย่านที่ปลูกพืชสวนสำคัญๆ ได้ผลดี เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง มะยงชิด สะตอ ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ มะปรางหวาน กระท้อน ส้มโอ มะม่วง โดยเฉพาะ การผลิตเงาะและทุเรียน จังหวัดศรีสะเกษถือเป็นแห่งผลิตแห่งแรก และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่ปลูกกว่า 7,000 ไร่ เงาะที่ผลิตเป็นพันธุ์เงาะโรงเรียน ส่วนทุเรียนเป็นพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี จึงเป็นแหล่งพืชสวนและผลไม้อันเป็นผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการส่งออกแหล่งใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนั้น ยังมีพืชผลอื่นๆ ที่ออกผลตลอดทั้งปี
ดังนั้น ในเดือนมิถุนายนของทุกปี จังหวัดศรีสะเกษจึงกำหนดเป็นช่วงเทศกาล เงาะ ทุเรียน และของดีศรีสะเกษ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัด รวมทั้งการเผยแพร่ชื่อเสียงของผลไม้และพืชผลทางการเกษตรจากศรีสะเกษ มีขบวนรถบุปผาชาติประดับด้วยผลไม้ กิจกรรมคาราวานการท่องเที่ยวชมสวนและชิมผลไม้ไปตามสวนในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ เช่น ในเขตอำเภอกันทรลักษ์และอำเภอขุนหาญ รวมทั้งการจำหน่ายผลไม้และพืชผลทางการเกษตรคุณภาพดี ราคาย่อมเยาว์
การแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนและมินิควอเตอร์สู่ผามออีแดง
จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมทุกปี บนเส้นทางขึ้นสู่ผามออีแดง เขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ระหว่างหมู่บ้านภูมิซรอล-ผามออีแดง เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นเขาสู่ชายแดนที่ต้องวิ่งฝ่าสายหมอกในช่วงปลายฤดูฝน จึงนับเป็นเส้นทางและรายการที่ท้าทาย เป็นสนามประลองกำลังที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนจากทั่วประเทศให้ความสนใจมากที่สุดอีกรายการหนึ่ง
|